ลิ้งจากฐานเศรษฐกิจออนไลด์ ครับ
http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=35900:cat-&catid=85:2009-02-08-11-22-45&Itemid=417 "แคทเทเลคอม" เขย่าวงการทีวีดาวเทียมเตรียมเปิดช่อง "CAT TV" พร้อมจับมือกลุ่มสามารถ ขายจาน "สีส้ม" ราคา 499 บาทติดตั้งฟรีไม่มีรายเดือน ตั้งเป้าขาย 1 ล้านจาน ล่าสุดจับเข่าคุยผู้ผลิตรายการหวังออกอากาศภายในเร็ว ๆนี้ ลุ้นระทึกรอบอร์ดใหม่ไฟเขียว เตรียมก๊อกสองให้บริการผ่านไฟเบอร์ออพติก
แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจสื่อสาร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคทเทเลคอม ได้เชิญผู้ผลิตรายการทีวีเข้ามาเจรจา อาทิ นางชาลอต โทณวณิก, Live TV และ สปริงทีวี เป็นต้น เพื่อหาข้อสรุปในการนำคอนเทนต์ของผู้ผลิตรายการเหล่านี้มาเผยแพร่ในช่อง รายการทีวีดาวเทียมภายใต้ชื่อ "CAT TV" โดยจะร่วมกับ บริษัท สามารถ เอนจีเนียริ่ง จำกัด ของกลุ่มสามารถคอร์ป ทำหน้าที่ในการจัดจำหน่ายจานดาวเทียม "สีส้ม" ในราคาเพียง 499 บาทเท่านั้นโดยตั้งเป้าหมายจำหน่ายจานดาวเทียมถึง 1 ล้านจาน
เหตุผลที่ แคทเทเลคอม มีแผนจะทำช่องรายการทีวีดาวเทียม เนื่องจากปัจจุบันมีช่องทีวีดาวเทียมช่องหนึ่งแต่ยังไม่สามารถเผยแพร่รายการ ทีวีได้ ในขณะนี้อยู่ระหว่างการหาคอนเทนต์
"แม้จะตั้งเป้ายอดขายที่ 1 ล้านจานแต่ปัญหาก็คือ แคท จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายราคาจานดาวเทียมที่กลุ่มสามารถเป็นผู้จัดจำหน่าย 2,000-3,000 บาท คำถามคือจะคุ้มหรือไม่เพราะหลายฝ่ายยังกังวล"
ขณะที่นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวยอมรับว่าเป็นเพียงแผนธุรกิจเท่านั้นยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากต้องนำเรื่องดังกล่าวให้กับคณะกรรมการชุดใหม่ (นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ประธานกรรมการ) พิจารณาอนุมัติอย่างเป็นทางการ หากไม่สามารถให้บริการทีวีผ่านดาวเทียมได้ก็จะใช้ช่องทางผ่าน FTTH (Fiber to the Home คือระบบเส้นใยแสงที่จะทำการส่งผ่านข้อมูลจาก Center Office หรือ ชุมสายของผู้ให้บริการไปยังบ้านเรือนของผู้ใช้คือสามารถส่งข้อมูลไปถึงบ้าน ของเรา และส่งจากบ้านของเราไปยังชุมสายได้ความเร็วมากที่สุดถึงระดับ 2.5 Giga-bit per second (Gbps) หรือประมาณ 2,500,000,000 บิต / วินาที) ซึ่ง กสท มีแผนใช้งบประมาณ 6,000 ล้านบาทติดตั้งเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ส่วนทางด้านแหล่งข่าวจาก บมจ.กสทโทรคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานายสมพล จันทร์ประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายธุรกิจบรอดแบนด์ ได้นัดบรรดาผู้ผลิตรายการทีวี เข้ามาเจรจาเพื่อนำคอนเทนต์ของผู้ผลิตเหล่านี้มาเผยแพร่ออกอากาศในรายการ "CAT TV" ส่วนลักษณะจานดาวเทียมนั้นเป็น "สีส้ม" โดยให้กลุ่มสามารถคอร์ป เป็นผู้จัดจำหน่าย ส่วนจำนวนช่องรายการเบื้องต้นในขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากโครงการดังกล่าวต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการ บมจ.กสทโทรคมนาคม
"โครงการนี้เคยมีการเสนอในบอร์ดชุดที่แล้วแต่ยังไม่มีการอนุมัติอย่างเป็น ทางการ เมื่อบอร์ดชุดใหม่เข้ามาเชื่อว่าผู้บริหารจะปัดฝุ่นโครงการนี้อีกครั้ง หนึ่ง"
ก่อนหน้านี้ ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มอบหมายให้ แคท ทำทีวีดาวเทียม ICT Network ใช้งบประมาณ30 ล้านบาท จาก 3 หน่วยงานหลักคือ กสท, บมจ.ทีโอที และ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ "ซิป้า"
ด้านนายเกษม อินทร์แก้ว นายกสมาคมเคเบิ้ลทีวีแห่งประเทศไทย เชื่อว่ากรณีที่ บมจ.กสท โทรคมนาคม มีแผนจะเปิดช่องรายการทีวีดาวเทียมเพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์ ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเคเบิลทีวี เพราะว่ามีรายการล็อกสัญญาณเอาไว้ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกสำหรับผู้บริโภคเท่านั้น ดังนั้นเหตุที่ไม่ส่งผลกระทบกับธุรกิจเคเบิลทีวีเพราะมีการจัดเรียงผัง รายการลักษณะเดียวกับของทรูวิชั่นส์ ปัจจุบันมีจำนวน 26 ช่องคาดว่าภายในสิ้นปีนี้เพิ่มเป็น 45-55 ช่องรวมทั้งช่องรายการฟรีทีวี ดังนั้นในปี 2553 สมาคมตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสมาชิกรวม 1 ล้านราย หรือเป็นอัตราการเติบโตเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2552 ที่มีอัตราเพิ่มขึ้น 5 แสนราย หรือมีจำนวนสมาชิกเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศประมาณ 3.5 ล้านครัวเรือน
"การรับชมรายการทีวีใน 3-5 ปีต่อจากนี้ อัตราการเติบโตจะอยู่ที่การรับชมทางสายไฟเบอร์ออพติก หรือระบบเคเบิลทีวี และผ่านจานดาวเทียมเป็นหลัก เพราะสามารถรับชมได้หลากหลายช่องเมื่อเทียบกับฟรีทีวี ที่มีเพียง 6 ช่องเท่านั้น" กล่าว
ก่อนหน้านี้นายมานพ โตการค้า ประธานชมรมผู้ประกอบการจานดาวเทียมประเทศไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอพีเอ็ม ทีวี จำกัด เจ้าของและผู้จัดจำหน่ายชุดรับสัญญาณดาวเทียม "จานส้ม" ไอพีเอ็ม ในระบบเคยู แบนด์ เปิดเผยว่า สำหรับไอพีเอ็ม ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้จัดจำหน่ายจานดาวเทียมระบบเคยู แบนด์ "จานส้มไอพีเอ็ม" ได้เข้ามาจำหน่ายตั้งแต่ต้นปีนี้ด้วยการจัดแคมเปญลดราคาจำหน่ายเหลือชุดละ 2,990 บาท จากเดิม 3,590 บาท บริษัทได้เริ่มทำตลาดจานไอพีเอ็มในปี 2550 ที่เป็นรูปแบบจานระบบซี แบนด์ ซึ่งมีอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติม และรับชมได้ 2 ระบบ ทั้ง ซีแบนด์ และเคยู แบนด์ ซึ่งมียอดขายจาน 2 ระบบอยู่ในตลาดประมาณ 800,000 จาน ในปี 2552 เริ่มทำตลาดจานส้มไอพีเอ็ม เคยู แบนด์ ระบบเดียว คาดว่าในปี 2553 จะมียอดขายจานส้มไอพีเอ็มประมาณ 800,000 จาน ซึ่งเป็นจานดาวเทียม ที่รับชมช่องรายการ 80 ช่อง แบ่งเป็นช่องรายการที่บริษัทผลิตเอง 40 ช่อง และช่องรายการฟรี ทู แอร์ 40 ช่อง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย