องค์กรผู้บริโภคร่วมยื่นฟ้องแกรมมี่ต่อศาลแพ่ง เพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉินให้มีการแพร่ภาพบอลยูโรทันที จนกว่าจะหมดรายการ ยันเป็นแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิพื้นฐานผู้บริโภค (จอดำ) ชี้ จำเลยสมคบกันทำธุรกิจเอาเปรียบผู้บริโภค ด้วยการใช้เล่ห์เหลี่ยมจำเลย กีดกั้นการรับชม ฟรีทีวี ทำให้ประชาชน 11 ล้านครัวเรือนถูกจำกัดสิทธิ จีงขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังรัฐบาล เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ ม.61
วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่ศาลแพ่ง น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวกรวม 5 คน ซึ่งเป็นผู้บริโภคกล่องรับสัญญาณ จีเอ็มเอ็มแซท เป็นโจทก์ฟ้องบ.บีอีซี-เทโร เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (ทีวีช่อง3), กองทัพบก (ททบ.5), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท จีเอ็มเอ็ม จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ฐานละเมิด และผิดสัญญา และขอคุ้มครองฉุกเฉินให้มีการแพร่ภาพบอลยูโรทันทีจนกว่าจะหมดรายการ
โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2555 เดิมจำเลยที่ 1-3 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการทีวีสาธารณะ หรือฟรีทีวี ที่ประชาชนสามารถรับชมได้ทั่วไปโดยใช้เสาทีวี หรือเสาหนวดกุ้ง หรือรับทางจานดาวเทียมก็ได้ โดยถือว่า การเสนอแพร่ภาพและการเข้ารับชมรายการของประชาชน เป็นการทำคำเสนอ คำสนอง สัญญาจึงเกิดขึ้นตามกฎหมายแพ่ง และจำเลยที่ 1-3 มีเจตนาจะเผยแพร่การถ่ายทอดสดบอลยูโรผ่านระบบทีวีสาธารณะ หรือ ฟรีทีวี ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถดูได้ ทางทีวีช่อง 3, 5 และ 9 และประชาชนยังสามารถเลือกรับชมทางกล่องจีเอ็มเอ็มแซทของจำเลยที่ 4 ที่เป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด บอลยูโร 2012
ต่อมาวันที่ 8 มิ.ย. โจทก์ไม่สามารถรับชมรายการฟุตบอลตามที่จำเลยที่ 1 ถึง 3 ได้ประกาศประชาสัมพันธ์ไว้ มีแต่เพียง จอดำ โดยไม่มีรายการปกติประจำวันที่เคยออกอากาศตามปกติ หรือรายการพิเศษทดแทนให้โจทก์รวมถึงผู้บริโภคอื่นๆ ได้รับชมแทนในช่วงเวลาดังกล่าว จนบัดนี้ ก็ยังไม่สามารถเข้าชมได้ พฤติกรรมดังกล่าว พวกจำเลยได้ร่วมกันล่วงละเมิดสิทธิการเข้าถึงการรับบริการสาธารณะอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค 30 ล้านคน หรือ 11 ล้านครัวเรือน ด้วยการหยุดถ่ายทอดรายการ ถือว่าเป็นการ ผิดสัญญา กับโจทก์ เพียงเพราะพวกจำเลย สมคบกันทำธุรกิจเอาเปรียบผู้บริโภค ด้วยการใช้เล่ห์เหลี่ยมจำเลย กีดกั้นการรับชม ฟรีทีวี
ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้ขยายการขายกล่องรับสัญญานดาวเทียม จีเอ็มเอ็มแซท ในราคา 1,590 บาท แล้วขายได้ถึง 8 แสนกล่อง มูลค่า1,232 ล้านบาท โดยจำเลยที่ 4 เสียภาษีเพียง 214 บาทเท่านั้น และหากโจทก์อยากชมบอลยูโร ก็ต้องเสียเงินซื้อเสาก้างปลา หรือเสาหนวดกุ้ง หรือซื้อกล่องจีเอ็มเอ็มแซท ทำให้เสียเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นการรอนสิทธิผู้บริโภค ที่ต้องยอมซื้ออุปกรณ์มาติดตั้ง จึงเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นถึง 2 พันล้านบาท การกระทำดังกล่าว ถือว่าไม่สุจริต และผิดสัญญาการให้บริการสาธารณะ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้ง 4 แพร่ภาพรายการบอลยูโร ในระบบภาคพื้นดิน หรือระบบอื่นที่ทำให้ผู้บริโภครับชมได้ฟรี และคืนเงินค่ากล่อง 1,590 บาท ที่โจทก์ซื้อไปคืนมา และขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ โดยคำนึงถึงความเสียหายต่อประชาชน 11 ล้านครัวเรือน และขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังรัฐบาล ให้เร่งดำเนินการเกิดองค์กรอิสระ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ให้เร็วที่สุด
ภายหลัง น.ส.สารี กล่าวว่า กรณีจอดำ ไม่ใช่แค่เรื่องของคนอยากดูฟุตบอล แต่เพราะเห็นว่าตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานที่ควรทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค หรือองค์การอิสระทั้งหลายไม่สามารถคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของคนที่จะดูทีวี ซึ่งเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานได้ทั้งช่อง 3, 5, 9 จึงมาขอพึ่งบารมีศาล ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่ง โดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ประเด็นที่สอง จะเห็นว่า การทำธุรกิจในครั้งนี้แตกต่างจากในหลายประเทศ โดยบริษัทแกรมมี่เลือกที่จะใช้ช่องทางซึ่งละเมิดสิทธิของผู้บริโภค แทนที่จะใช้เทคโนโลยีดักสัญญาณไม่ให้แพร่ภาพไปยังประเทศอื่น ที่สามารถทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่เลือกที่จะละเมิดสิทธิผู้บริโภคร่วมกับช่อง 3, 5 และ 9 เห็นว่ากลไกทั้งหลายไม่สามารถคุ้มครองพวกเราได้ จึงเลือกที่จะปฏิบัติการเอง และขอเชิญผู้บริโภคทั้งหลาย ที่ไม่สามารถดูฟรีทีวีได้ ร่วมกันหยุดซื้อ หยุดใช้ หยุดมีส่วนร่วมกับสินค้าของบริษัทแกรมมี่ทั้งหมด โดยวันนี้ได้ดำเนินการสองเรื่องที่สำคัญ โดยขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ก่อนมีคำพิพากษา เพราะเห็นว่า เป็นประโยชน์กับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการทั่วไป
น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ องค์กรผู้บริโภคได้ไปยื่นจดหมายถึง กสทช. 2 ฉบับ นอกจากนี้ ยังมีเวทีสัมมนา หน่วยงานกรรมาธิการ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ต่างออกมาเรียกร้องให้คนสามารถดูฟุตบอลทางฟรีทีวีได้ แต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น ช่องทางนี้อาจเป็นช่องทางสุดท้าย ที่องค์กรผู้บริโภคจะทดลองใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
เหตุผลก็คงชัดเจนว่า ทุกคนที่เป็นผู้บริโภคควรที่จะสามารถดูฟรีทีวีช่อง 3, 5, 9 ได้ ซึ่งอาจเป็นหน้าที่ของผู้รับสัมปทาน และผู้รับใบอนุญาตที่จะต้องดำเนินการให้บริการสาธารณะ แต่ปรากฏว่า ขณะนี้ผู้บริโภค 30 ล้านคน หรือ 11 ล้านครอบครัว เกินครึ่งของประเทศไม่สามารถดูฟรีทีวีได้ โดยไม่มีรายการทดแทนรายการปกติ กลายเป็นปัญหาจอดำ ซึ่งเห็นว่าไม่ใช่เรื่องคนอยากดูฟุตบอล แต่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคครั้งสำคัญ
คิดว่ากฎหมายวิธีพิจารณาความผู้บริโภค จะเป็นที่พึ่งของผู้บริโภค เพราะเป็นกฎหมายตรงๆ ที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค วันนี้ จึงเลือกที่จะมาศาลแพ่ง เพื่อใช้กฎหมายฉบับนี้ ภายหลังจากที่หน่วยงานต่างๆ รวมถึงรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้ล้มเหลว นี่คือที่พึ่งสุดท้ายของผู้บริโภค น.ส.สารี กล่าวทิ้งท้าย
http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9550000077733