นายสมพร ธีระโรจนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายจานดาวเทียมพีเอสไอ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สำหรับในปีนี้บริษัทเชื่อมั่นว่ากระแสด้านทีวีดาวเทียมและทีวีดิจิตอลจะขยายตัวมากขึ้น ขณะที่กลางเดือนเมษายนที่ใกล้จะถึงนี้บริษัทได้เตรียมนำกล่อง T2 ออกวางจำหน่าย โดยกล่องดังกล่าวจะสามารถรองรับระบบทีวีดิจิตอลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งบริษัทได้ประเมินราคาอยู่ที่ประมาณ 1,500 - 1,700 บาทต่อกล่อง อีกทั้งการผลิตกล่องT2 บริษัทได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่ประเทศจีน พัฒนาปรับปรุงกล่องรับสัญญาณจากรูปแบบเดิมที่มีคลื่นความถี่ดาวเทียมให้เป็นระบบภาคพื้นดิน ทั้งนี้บริษัทคาดว่าจะนำกล่องเข้ามาล็อตแรกประมาณ 1 หมื่นกล่อง เนื่องจากมองว่ากล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลอาจยังไม่เกิดกระแสมากในปีนี้ เพราะระบบการทดลองต่างๆในปัจจุบันก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์
ขณะเดียวกันเรื่องของการแจกคูปองส่วนลดให้กับผู้บริโภคทั้ง 22ล้านครัวเรือนนั้น บริษัทมองว่าเป็นลักษณะการทำคล้ายกับระบบประชานิยม หรือหากมาดูเรื่องมูลค่าส่วนลดที่จะให้นั้นจากการคำนวณของภาคเอกชนต่างๆแล้วจะมีราคาเพียงแค่ไม่กี่ร้อยบาท ซึ่งงบการแจกคูปองตรงนั้นบริษัทอยากให้กสทช.ทบทวนเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน แต่ควรนำเงินจากงบการประมูลที่ได้มาพัฒนาด้านโครงค่ายสัญญาณ โปรแกรม และคอนเทนต์ต่างๆให้มีประสิทธิภาพดีกว่า ทั้งนี้มองว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกมากในการรับสื่อ อาทิ ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี เป็นต้น ทีวีดิจิตอลก็เป็นทางเลือกหนึ่งเช่นกัน ซึ่งหากทางกสทช.อยากให้ผู้บริโภคเกิดประโยชน์สูงสุดก็ควรหันมาพัฒนาเรื่องการสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตด้านต่างๆแทน
ล่าสุดบริษัทได้ข้อมูลเรื่องการทดลองระบบสัญญาณทีวีดิจิตอลถึงกรณีทดลองระบบช่องรายการจำนวน 12 ช่อง แบ่งเป็นช่องเอชดี 3 ช่อง และช่องธรรมดาอีก 9 ช่อง ซึ่งช่องทั้งหมดได้ทดลองคลื่นความถี่แบ่งเป็น 2 ช่องคือ ความถี่ 594 มีแรงส่งสัญญาณอยู่ที่ 5 กิโลวัตต์ และความถี่ 626 มีแรงส่งอยู่ที่ 200 กิโลวัตต์ อีกทั้งการทดลองระบบดังกล่าวกสทช.ได้เลือกพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา และขอนแก่น ทั้งนี้จากการทดลองระบบดังกล่าวพบปัญหาต่างๆ ตามมาเช่น ที่พักอาศัยที่อยู่ใกล้ไม่สามารถรับชมระบบสัญญาณทีวีดิตอลได้ เนื่องจากติดปัญหาด้านเทคนิคอยู่มาก
นอกจากนี้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนประเทศจีน โดยใช้งบลงทุนกว่า 400 ล้านบาทสร้างโรงงานผลิตสายไฟเบอร์ดาวเทียม ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานผลิตจานดาวเทียม โดยบริษัทได้วางแผนจะจำหน่ายส่งออกสายไฟเบอร์ดาวเทียมไปยังเพื่อนบ้านในแถบภูมิภาคนี้และวางโรงงานดังกล่าวให้เป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะเสร็จสมบูรณ์และสามารถเปิดการผลิตสินค้าได้ในเดือนมีนาคมนี้ และบริษัทได้วางงบการตลาดกว่า 50 ล้านบาท
ทั้งนี้สำหรับรายได้ในสิ้นปีที่ผ่านมาสินค้าต่างๆของบริษัทมียอดขายต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากช่วงต้นปี 2555 บริษัทได้วางเป้าผลิตภัณฑ์ ซี-แบนด์ อยู่ที่ 1 ล้านเครื่อง แต่สามารถทำได้เพียง 9.5 แสนเครื่อง เคยู-แบนด์ตั้งไว้ 1 ล้านเครื่องแต่ขายได้จริงกว่า 6 แสนเครื่อง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาตลาดเคยู-แบนด์มีผู้เล่นหลายเจ้าทำให้ยอดขายลดลงไปจากเป้าที่วางไว้ อีกทั้งด้านกลุ่มกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมในปีที่ผ่านได้มียอดขายลดลงจากเป้าที่ตั้งไว้เช่นกัน จากเดิมตั้งอยู่ที่ 3.5 ล้านเครื่องแต่มียอดขายจริงเพียงกว่า 2 ล้านเครื่อง เท่านั้น อีกทั้งยอดรายได้รวมของบริษัทในสิ้นปีก่อนมีมูลค่าอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้บริษัทคาดว่าจะสามารถทำรายได้เติบโตจากปีก่อน 15% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3,500 ล้านบาท
ขอบคุณ...
http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=167132%3At2&catid=107%3A2009-02-08-11-34-25&Itemid=456