หัวข้อ: กสทช.ลุยดิจิทัลทีวีเล็งเปิด100ช่อง
เริ่มหัวข้อโดย: platogether ที่ 04, กุมภาพันธ์ 2012, 06:55:14 am
กสทช.ลุยดิจิทัลทีวีเล็งเปิด100ช่อง
กสทช. เดินหน้าทดลอง "ดิจิทัล ทีวี" เดือนมิ.ย.นี้ คาด 5 ปี เปิดประมูล 100 ช่อง ชูจุดเด่นอินเตอร์แอ็คทีฟ รับชมผ่านทุกแพลตฟอร์ม พันเอกนที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า กสทช. ได้แต่งตั้งอนุกรรมการการเปลี่ยนไปสู่ระบบการส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ซึ่งจะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 16 ก.พ.นี้ เพื่อกำหนดกรอบการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ไทยไปสู่ระบบดิจิทัล ให้สอดคล้องกับร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ในยุทธศาสตร์การเปลี่ยนไปสู่ระบบการส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ที่กำหนดให้เริ่มต้นการรับส่งสัญญาณดิจิทัลภายใน 4 ปี
ทั้งนี้ หลังจากแผนแม่บททั้ง 3 ฉบับ ผ่านเวทีประชาพิจารณ์ในเดือนก.พ. ปรับปรุงแก้ไขร่างในเดือนมี.ค. และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กสทช. จะเริ่มนำร่องโครงการทดลอง "ดิจิทัล ทีวี" เป็นลำดับแรกในเดือนมิ.ย.นี้ โดยจะเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการฟรีทีวีทุกช่องในปัจจุบันมาร่วมทดลองออกอากาศดิจิทัล "การทดลองโครงการดิจิทัล ทีวี จะต้องเปิดโอกาสให้ทุกรายที่พร้อมเข้ามาทดลองดำเนินการในวงกว้าง เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมเห็นประโยชน์ในโครงการนี้ และไม่ซ้ำรอยการประมูล 3จี ในอดีตที่ถูกห้ามดำเนินการ" พันเอกนที กล่าว
ประมูลไลเซ่น 100 ช่องดิจิทัลทีวี สำหรับขั้นตอนและกรอบเวลาการเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล ทีวี ในปีนี้ จะเป็นขั้นตอนการวางหลักเกณฑ์ และการทดลองออกอากาศระบบดิจิทัล คาดว่าช่วงปลายปีนี้จะเริ่มการประมูลเพื่อให้ใบอนุญาตดิจิทัลทีวีได้ โดยจะเปิดประมูลใบอนุญาตครั้งละ 50 ช่อง แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คาดว่าภายใน 5 ปี จะออกใบอนุญาตดิจิทัลทีวีได้ประมาณ 100 ช่อง โดยจำนวนดังกล่าวจะเป็น ดิจิทัล ทีวี ระบบ HD สัดส่วน 20%
ปัจจุบัน 1 คลื่นความถี่ฟรีทีวี ในระบบอนาล็อก สามารถจัดสรรเป็นดิจิทัลทีวี 8-10 ช่อง นอกจากนี้ยังมีคลื่นความถี่ระหว่างช่องฟรีทีวีปัจจุบัน เช่น ช่อง 2,ช่อง 4 และช่อง 6 ที่ยังไม่มีการใช้งาน สามารถนำมาจัดสรรเป็นดิจิทัล ทีวีได้อีก ดังนั้นหากประเทศไทยเปลี่ยนระบบรับส่งสัญญาณเป็นดิจิทัลแล้ว จะมีคลื่นความถี่ที่นำมาจัดสรรเป็น ดิจิทัล ทีวี ได้จำนวนมาก
แม้ว่าปัจจุบันจะมีการขยายตัวและการลงทุนในช่องทีวีดาวเทียมจำนวนมาก เนื่องจากเป็นสื่อที่มีการลงทุนไม่สูง แต่เชื่อว่าหาก กสทช. เปิดให้ประมูลใบอนุญาตดิจิทัลทีวี จะมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสื่อสนใจเข้าประมูล เนื่องจากเป็นคลื่นความถี่มีประสิทธิภาพสูงด้านการรับชมที่ให้ภาพคมชัด มีความเสถียรด้านสัญญาณการออกอากาศ พัฒนาไปสู่การให้บริการอินเตอร์แอ็คทีฟ ซึ่งสามารถรับชมช่องดิจิทัล ทีวี ได้ทุกแพลตฟอร์มการออกอากาศ โดยเฉพาะในรูปแบบ "โมบาย ทีวี" ซึ่งจะช่วยขยายฐานผู้ชมได้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
พันเอกนที กล่าวอีกว่าปัจจุบันฟรีทีวี ภาคพื้นดิน 6 ช่อง มีฐานผู้ชมทั่วประเทศประมาณ 20 ล้านครัวเรือน หรือ 20 ล้านเครื่องรับชมทีวี แต่หากเป็น ดิจิทัล ทีวี ซึ่งสามารถรับชมผ่านโทรศัพท์มือถือได้ เท่ากับสามารถขยายฐานผู้ชมทีวีไปยังเจ้าของโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยกว่า 60 ล้านรายในปัจจุบัน เชื่อว่าด้วยศักยภาพด้านสัญญาณและจำนวนผู้มีโอกาสรับชม จะทำให้มีผู้ประกอบการสนใจประมูลใบอนุญาตดิจิทัล ทีวีแน่นอน แต่ยังไม่สามารถกำหนดราคาประมูลได้ในขณะนี้ โดยต้องรอให้อนุกรรมการฯ เป็นผู้ศึกษาและจัดทำแผนก่อน สำหรับแนวทางการลงทุนด้านโครงข่ายส่งสัญญาณดิจิทัลทีวี กสทช. จะกำหนดหลักเกณฑ์โดยจัดทำเป็นโครงข่ายแห่งชาติ และเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจเสนอแผนเข้าประมูลเพื่อลงทุน โดยรูปแบบการลงทุนจะเป็นโครงข่ายเดียว แต่ผู้ประกอบการทุกรายที่ประมูลขอใบอนุญาตช่องดิจิทัลทีวี สามารถเข้ามาเช่าสัญญาณออกอากาศกับโครงข่ายแห่งชาติได้โดยไม่ต้องลงทุน ปัจจุบันสถานีส่งสัญญาณออกอากาศฟรีทีวี ทั้งช่องไทยพีบีเอส ช่อง 11 และ อสมท มีศักยภาพที่จะลงทุนเพื่อปรับเป็นโครงข่ายดิจิทัลทีวี ทั้งสิ้น โดยมีการประเมินว่าการลงทุนโครงข่ายดังกล่าวจะไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับเลือกให้ลงทุนโครงข่ายสัญญาณดิจิทัล จะต้องเสนอแผนการลงทุนด้านการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศเช่นเดียวกับการขยายโครงข่าย 3จี เช่นกัน
กสทช.นัดถกร่างไอเอ็ม3จี ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กสทช. กล่าวว่า วันที่ 6 ก.พ. นี้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จะมีประชุมนัดแรก เรื่องการจัดทำร่างหนังสือชี้ชวนการลงทุน (ไอเอ็ม) เพื่อเข้าประมูลใบอนุญาต (ไลเซ่น) 3จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ โดยที่ผ่านมาที่ประชุม กทค. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการร่างหลักเกณฑ์ไอเอ็มแล้ว โดยคณะอนุกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย พ.อ.เศรษฐพงค์ ดำรงดำแหน่งประธานอนุกรรมการ ส่วนกรรมการที่เหลือจะมาจากกรรมการกทค.ที่เหลืออีก 4 คน คือ นายสุทธิพล ทวีชัยการ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ พล.ท. พีระพงษ์ มานะกิจ และ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ซึ่งทุกคนสามารถเลือกกรรมการผู้เชี่ยวชาญได้อีกคนละ 2 คน รวมเป็น 15 คนด้วย
ทั้งนี้ รายละเอียดของการหารือจะพิจารณาถึงร่างไอเอ็ม 3.9จี ที่รักษาการ กสทช. ชุดที่มี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ เป็นประธานดำเนินการได้จัดทำมาแล้ว ดังนั้น คณะอนุกรรมการชุดปัจจุบันจะลงรายละเอียดเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช.) รวมทั้ง ยังต้องพิจารณาว่า หากประกาศร่างไอเอ็มฉบับใหม่แล้ว จะมีผลกระทบการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติหรือไม่ โดยยอมรับว่า ยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับประกาศ กสทช. ว่าด้วยเรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2554
"การประชุมของคณะอนุกรรมการไอเอ็ม เราจะไม่เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะจะยิ่งล่าช้า เราเอาไอเอ็มเดิมที่เคยทำไว้แล้ว และก็เห็นว่าเป็นไอเอ็มที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในทุกมิติมาปัดฝุ่นใหม่ เพราะเราต้องการให้การเปิดประมูลไลเซ่น 3จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นรอยต่อไปสู่ 4จี นี้ดำเนินการได้ทันตามไทม์ไลน์ที่ตั้งไว้ว่าจะเริ่มเปิดประมูลในไตรมาส 3 ปีนี้" ส่วนราคากลางการประมูลไลเซ่น ไอเอ็ม เดิมเคยกำหนดไว้ที่ 12,800 ล้านบาท ซึ่งตนเองและนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย แต่ท้ายที่สุดต้องนำวาระเรื่องราคากลางการประมูลเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. อีกครั้ง ซึ่งแนวโน้มราคากลางเป็นไปได้ที่จะลดลงจากเดิม
เดินหน้าประชาพิจารณ์ 10 ก.พ. ขณะที่หลักเกณฑ์ N-1 หรือที่กำหนดว่า หากมีผู้เข้าประมูล 3 ราย จะออกไลเซ่นได้ 2 ใบก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้งด้วย อย่างไรก็ดี เชื่อว่า เรื่องของราคากลาง และหลักเกณฑ์ N-1 จะได้เห็นความชัดเจนในเดือนเม.ย.นี้อย่างแน่นอน แต่มูลค่าการประมูลจะเป็นเท่าไรอยู่ที่ความสามารถนำไปทำธุรกิจของผู้ให้บริการแต่ละราย
สำหรับการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ต่อร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมที่จะมีขึ้นวันที่ 10 ก.พ. นี้ พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า เดิม กสทช.จะจัดประชาพิจารณ์เวียนไปทั่วประเทศ ตามจังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ๆ แต่ด้วยระยะเวลาของการประมูลไลเซ่น 3จี ที่จะมีขึ้นในไตรมาส 3 กสทช. จึงจัดประชาพิจารณ์ขึ้นในวันดังกล่าวเพียงวันเดียว แต่พร้อมกัน 4 จังหวัด คือ กทม. ที่ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี, อุดรธานี, ภูเก็ต และ เชียงราย โดยจะมีเทคโนโลยีการประชุมทางไกลผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์รับฟังความเห็นของผู้เข้าร่วมในทุกภาค
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทำประชาพิจารณ์ร่างแผนแม่บททั้ง 2 ฉบับเสร็จแล้ว กสทช.จะนำความเห็นของผู้เข้าร่วมมารับปรับปรุงแก้ไข โดยขั้นตอนต่อไป จะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช.เพื่อขอรับรองมติ และหลังจากนั้น จะประกาศเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ กสทช. เป็นเวลา 30 วัน และจึงนำไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ คาดว่ากระบวนทั้งหมดจะเสร็จภายในเดือนมี.ค. นี้ ด้าน พ.อ.นที กล่าวว่า การประมูล 3จี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติยุคผูกขาด หรือกึ่งผูกขาด ระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ใช้บริการได้เรียนรู้ถึงการใช้งาน 3จี ซึ่งไม่ใช่ 3จี เต็มรูปแบบ
เครดิต http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/media/20120204/434098/กสทช.ลุยดิจิทัลทีวีเล็งเปิด100ช่อง.html
หัวข้อ: Re: กสทช.ลุยดิจิทัลทีวีเล็งเปิด100ช่อง
เริ่มหัวข้อโดย: aiyob ที่ 04, กุมภาพันธ์ 2012, 11:45:21 am
มาช้าดีกว่าไม่มา (3 g)
หัวข้อ: Re: กสทช.ลุยดิจิทัลทีวีเล็งเปิด100ช่อง
เริ่มหัวข้อโดย: phopphop ที่ 04, กุมภาพันธ์ 2012, 06:00:02 pm
ขอบคุณที่แจ้งข่าว
|
ติด Banner ด้านล่างติดต่อ
boransat@gmail.com
กระทู้ ความคิดเห็น บทความ ข้อความใด ๆที่ได้อ่านในบอรดนี้ เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ
ผู้ดูแล ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยและ ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย ศิลธรรม
กรุณาแจ้งมาที่ boransat@gmail.com เพื่อที่ทีมงานจะได้ดำเนินการต่อไป
|
|
|